ทศชาติชาดก ชาติที่ 8 พระนารท แสดงถึงการบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ ความวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย วางใจเป็นกลาง พระนารทชาดก เป็นพระชาติที่ 2 ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้เสวยพระชาติเป็นมนุษย์ เรื่องนี้พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นมหาพรหม ในอดีตกาล พระเจ้าอังคติราช แห่งแคว้นวิเทหรัฐ ทรงได้รับการปลูกฝังจากบิดาตั้งแต่พระเยาว์ให้ประพฤติธรรม รู้จักบาปบุญคุณโทษ พระองค์จึงทรงเป็นพระราชาผู้ทรงธรรม ปกครองบ้านเมืองประชาชนอย่างเป็นสุข
มหาพรหมนามนารทะ ทศชาติชาดก ชาติที่ 8 พระนารท
วันหนึ่งอำมาตย์คนหนึ่งแนะนำให้พระองค์ไปฟังคำสอนจากนักบวชชีเปลือย คุณชีวก ได้สอนผิดๆ ว่า บุญบาปนั้นไม่มี โลกหน้าไม่มี ไม่มีผู้ใดมีพระคุณ ทำให้พระเจ้าอังคติราชกลายเป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ ละเว้นราชกิจทั้งหมด แล้วแสวงหาแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลินในชีวิต โดยไม่คำนึงถึงบาปบุญใดๆ จนทำให้บ้านเมืองประชาชนต้องเดือดร้อน
พระนางรุจาราชกุมารี พระราชธิดาของพระเจ้าอังคติราช ทรงสามารถระลึกชาติเห็นชาติก่อนได้เพราะผลบุญจากอดีต พระนางจึงทรงแสดงธรรมเพื่อโปรดพระบิดา โดยระลึกชาติของพระนางและผู้อื่นหลายคนมาเล่าให้พระบิดาฟังว่า โลกหน้านั้นมีจริง บุญบาปก็มีจริง ใครทำกรรมใดไว้ ย่อมได้ผลแห่งกรรมนั้น แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจพระเจ้าอังคติราชได้
เมื่อหมดหนทางที่จะทำพระบิดาเปลี่ยนใจ นางรุจาราชกุมารีจึงทรงตั้งจิตอธิษฐานให้เทพมาโปรดพระบิดาเพื่อช่วยแก้ไขเหตุการณ์นี้ ขณะนั้น มหาพรหมนารทะ ผู้มีความกรุณาในสรรพสัตว์ มักอุปการะเกื้อกูลผู้อื่น เล็งเห็นความทุกข์ของนางรุจาราชกุมารี และความเดือดร้อนที่จะเกิดแก่บ้านเมืองประชาชน ถ้าหากพระเจ้าอังคติราชยังทรงเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ
มหาพรหมนารทะจึงเสด็จลงมาช่วย โดยแปลงเป็นนักบวชหาบสาแหรกทองคำมา ทรงแสดงธรรมและบอกถึงความน่ากลัวของนรกภูมิ แต่พระเจ้าอังคติราชยังไม่ทรงเชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง และดูหมิ่นมหาพรหมนารทะว่าโง่เขลา แต่มหาพรหมนารทะทรงบำเพ็ญอุเบกขา วางเฉยต่อวาจานั้น และทรงแสดงธรรมต่อไปด้วยจิตเมตตา จนในที่สุดก็สามารถทำให้พระเจ้าอังคติราชทรงกลัวภัยในนรก ละมิจฉาทิฐิ และกลับมาประพฤติธรรมด้วยการถือศีล หมั่นให้ทานไปจนตลอดชีพ
สาระสำคัญ คติธรรม พระนารทชาดก
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีย่อมได้ดี ทำผิดบาปย่อมได้ชั่วเป็นผล และการคบมิตรสหายก็จะส่งผลดีเลวแก่ตัวบุคคลนั้นด้วย