หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นบุตรของ นายคำด้วง และนางจันทร์ แก่นแก้ว เกิดวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน คือ บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี) ท่านเป็นคนมีสติปัญญาดีมาตั้งแต่กำเนิด เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา และมีความขยันหมั่นเพียรชอบการเล่าเรียนศึกษา
ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 เวลา 02.23 น. ด้วยอาการสงบในท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น สิริชนมายุได้ 79 ปี 9 เดือน 21 วัน รวม 56 พรรษา
การจัดถวายพระเพลิงศพท่าน ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2493 เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จ อัฐิขององค์หลวงปู่มั่นได้ถูกแบ่งแจกไปตามจังหวัดต่างๆ ส่วนประชาชนได้เถ้าอังคารไป
ประวัติพอสังเขป หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ตามความเดิมว่าท่านเป็นคนมีสติปัญญาดีมาตั้งแต่กำเนิด เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา และมีความขยันหมั่นเพียรชอบการเล่าเรียนศึกษา เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาหาความรู้ทางศาสนา สวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้
หลังจากบวชได้ 2 ปี บิดาของท่านได้ขอให้ลาสิกขาเพื่อไปช่วยงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานอย่างเต็มความสามารถ ท่านเล่าว่าเมื่อลาสิกขาแล้วก็ยังคิดที่จะบวชอีกอยู่ตลอดเวลา
ต่อมาหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่บ้านคำบง หลวงปู่มั่นในขณะเป็นฆราวาสได้เข้าถวายการรับใช้และมีจิตศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ และได้ถวายตัวเป็นศิษย์ติดตามเดินทางเข้าเมืองอุบลราชธานี
เมื่อท่านอายุได้ 23 ท่านเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอริยกวี (อ่อน ธัมมรักขิโต) เป็นพระอุปฌาย์, พระครูสีทาชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย ญาณสโย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามว่า ภูริทัตโต แปลว่า ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด
เสร็จอุปสมบทกรรม ท่านได้กลับมาศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบต่อไป โดยได้เรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์เสาร์เป็นปกติ และได้ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพารามเป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น ส่วนแห่งพระวินัย ปฏิบัติได้เรียบร้อยดีจนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกรมนั่งสมาธิกับการสมาทานธุดงควัตรต่างๆ
ท่านได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนา แก่สหธรรมิกและอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน
หลังจากนั้น ท่านได้ไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ 1 พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับท่านเจ้าคุณพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง 1 พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง นานถึง 11 ปี จึงได้กลับมาจังหวัดอุดรธานี พักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์ 2 พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนครที่วัดป่าบ้านนามน จังหวัดสกลนคร 3 พรรษา และจำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ 5 พรรษา มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษา อบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่านมีมากมายไปไปทั่วทุกภาค เกียรติคุณของท่านนั้นก็เป็นที่เลื่องลือ
ตลอดเวลาท่านได้อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวันศิษย์ ผู้ใกล้ชิดได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้ และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ ชื่อว่า “มุตโตทัย“
ยูเนสโก ยกย่อง หลวงปู่มั่น เป็นบุคคลสำคัญของโลก
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร วางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก
แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า “คำสอนพระป่า” (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลงยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิปทาธรรมปฏิบัติของท่านสืบมาจนปัจจุบัน โดยลูกศิษย์เรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก เป็นบุคคลสำคัญของโลก ปี 2563 – 2564 สาขาสันติภาพ ถือเป็นพระสงฆ์รูปที่ 3 ของประเทศไทย เนื่องจากหลวงปู่มั่นเป็นพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน และพระมหาเถระที่คนไทยทั้งประเทศเคารพนับถือ ทั้งในขณะที่ท่านยังดำรงชีวิตอยู่ และละสังขารดับขันธ์ไปแล้ว คุณความดีที่ท่านได้มีคุณูปการต่อทั้งสถาบันศาสนา ชาติ และพระมหากษัตริย์ ท่านยังเป็นที่รู้จักในแวดวงชาวต่างชาติ ต่างภาษา ต่างประเทศ ที่เลื่อมใสในหลักธรรมคำสั่งสอนของท่าน