วัดสะตือ วัดพระนอน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างในปี พ.ศ.2400 โดยหลวงพ่อโต หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ พรหมรังสี เนื่องจากเมื่อก่อนมีต้นสะตือขนาดใหญ่อยู่บริเวณวัด จึงตั้งชื่อว่า วัดสะตือ แต่ปัจจุบันอาจจะคุ้นกับชื่อ วัดสะตือพุทธไสยาสน์ เนื่องจากจุดเด่นของวัด คือ พระพุทธไสยาสน์หลวงพ่อโตองค์ใหญ่
ภายในวัดมีปูชนียสถานและปูชนียวัตถุมากมาย เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรีญ หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ และปัจจุบันทางด้านหลังวัดยังมีชมรมไทเก๊กวัดสะตืออีกด้วย
พระอุโบสถวัดสะตือเป็นที่ประดิษฐาน พระประธานปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 65 นิ้ว สูง 126 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2497 และประดิษฐานพระปางนาคปรก สมัยทวาราวดี เนื้อหินทรายละเอียด ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้โบราณวัตถุ นอกจากนี้ยังมี รอยพระพุทธบาทจำลอง อายุประมาณ 100 ปี
พระวิหาร มีขนาดกว้าง 7.80 เมตร ยาว 20.90 เมตร สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย และหลวงพ่อโตเคยพักอาศัยเมื่อตอนคุมการก่อสร้างองค์พระพุทธไสยาสน์ มีรูปทรงเป็นเรือสำเภา ภายในมีพระประธานและพระพุทธรูปหมู่ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีและข้างหน้าต่าง ลักษณะของวิหารคล้ายแบบมหาอุด คือมีประตูเข้า–ออกด้านเดียว ส่วนด้านหลังมีแค่บานหน้าต่าง
สักการะพระนอนหลวงพ่อโต วัดสะตือ วัดพระนอน
จุดเด่นของวัดสะตือ คือ พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) อนุสรณ์แห่งหลวงพ่อโต ประดิษฐานบริเวณหน้าวัด ริมแม่น้ำป่าสัก นามว่า พระพุทธไสยาสน์ แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า หลวงพ่อโต ที่ท่านได้สร้างพระนอนองค์นี้ขึ้นก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าท่านเกิด ณ ที่นี้
องค์พระนอนมีขนาดใหญ่และมีความยาวมาก ขนาดยาว 25 วา กว้าง 4 วา 2 ศอก สูง 8 วา ซึ่งเป็นปกติของท่านที่มักจะสร้างอะไรใหญ่ๆ โตๆ สมชื่อของท่าน และท่านยังได้สร้างพระพุทธรูปมากมายหลายแห่ง พระพุทธไสยาสน์ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ 2413 สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่หลวงพ่อโตจะมรณภาพ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2415
บทสวดบูชาพระพุทธไสยาสน์หลวงพ่อโตองค์นี้ จะเป็นบทสวดชินบัญชร เป็นบทสวดที่หลวงพ่อโตแต่งขึ้น ซึ่งแตกต่างจากวัดอื่นที่เป็นบทสวดบูชาพระนอนเฉพาะ
ทางวัดสะตือจะมีงานเทศกาลประจำปีเพื่อปิดทององค์หลวงพ่อโต ปีละ 2 ครั้ง คือกลางเดือน 5 และกลางเดือน 12 พระพุทธไสยาสน์หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ มีอายุการสร้างที่ยาวนาน และมีความศักดิ์สิทธิ์ จึงมีประชาชนมากมายเดินทางเพื่อมานมัสการกราบไหว้ ให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ไม่ว่าขอพรหรือโชคลาภต่างๆ ก็มักประสบผลตามที่ขอ