วัดราชคฤห์ วัดพระนอน จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยนายกองชาวมอญที่อพยพเข้ามาและตั้งบ้านเรือนในย่านบางยี่เรือ เพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลและที่เล่าเรียน เนื่องจากวัดในอดีตมีบทบาทและสถานะเป็นโรงเรียนด้วย เมื่อสร้างเสร็จก็เรียกชื่อตามสถานที่ตั้งว่า วัดบางยี่เรือ แต่เนื่องจากย่านนี้มีหลายวัด จึงพากันเรียกว่า วัดบางยี่เรือมอญ หรือ วัดมอญ
เมื่อสมัยธนบุรี วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยพระยาพิชัยดาบหัก ก่อนที่ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จะโปรดเกล้าฯ สถาปนาวัดบางยี่เรือมอญขึ้นเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชคฤห์ ไม่มีการบันทึกว่าทำไมจึงชื่อนี้ แต่หลายคนสันนิษฐานว่าพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานภายในวัดนี้ อัญเชิญมาจากเมืองราชคฤห์ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน
หลวงพ่อสุขสบาย พระนอนหงาย วัดราชคฤห์ วัดพระนอน
สิ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นสำคัญที่สุดของวัดราชคฤห์ คือ หลวงพ่อสุขสบาย (หลวงพ่อนอนหงาย) เป็นพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เหตุการสร้างพระพุทธรูปปางนี้ เนื่องจากในสมัยนั้นเกิดโรคระบาดและชาวเมืองขาดความสามัคคี เพื่อเป็นการแก้ดวงเมือง เจ้าเมืองจึงกราบทูลสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงรับสั่งให้หาฤกษ์วางเสาหลักเมืองใหม่ และชักชวนกันสร้างพระพุทธรูปนอนหงายขึ้น นัยว่า กลับคว่ำให้เป็นหงาย กลับร้ายให้กลายเป็นดี หลวงพ่อนอนหงายประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระวิหารเล็ก ศาสนสถานเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบรี
ภายในวัดยังมี พระวิหารใหญ่ ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ในอดีตเป็น พระอุโบสถ แต่เมื่อมีการสร้างพระอุโบสถขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงพากันเรียกว่า พระวิหารใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อโต พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยอายุประมาณ 300 – 400 ปี เล่ากันว่า หากใครได้มากราบไหว้ บนบาน ขออะไรมักจะสำเร็จเสมอ ชาวบ้านจึงเรียกว่า หลวงพ่อโตสมปรารถนา
เขาคิฌชกูฏจำลอง หรือเขามอ มีพระสถูปตั้งอยู่บนยอดเขา เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งของพระยาสีหราชเดโช (พระยาพิชัยดาบหัก) ที่เคยได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อกอบกู้และปกป้องผืนแผ่นดินไทย อีกทั้งยังได้อุปัฏฐากอุปถัมภ์บำรุงวัดวาพระศาสนา โดยเฉพาะวัดราชคฤห์ มาจนตลอดอายุขัย ทางวัดจึงได้สร้างพระปรางค์สำหรับบรรจุอัฐิของท่านไว้ รวมทั้งสร้างรูปเหมือนของท่าน