วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร วัดพระนอน จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี แต่เดิมในช่วงสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดนี้มีชื่อว่า “วัดท่าเกวียน” เนื่องจากเคยเป็นที่พักแรมของกองเกวียนที่เดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ แต่ต่อมาชาวบ้านก็พากันเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดตะเคียน” สันนิษฐานว่า เรียกตามต้นตะเคียนที่ขึ้นหนาแน่นอยู่รอบบริเวณวัด
วัดมหาพฤฒารามวรวิหารมีความเกี่ยวพันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เนื่องจากสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชเป็น พระวชิรญาณภิกขุ พระอธิการแก้วเจ้าอาวาสได้ทูลถวายพยากรณ์ว่า “จะได้ขึ้นครองราชย์” พระองค์จึงรับสั่งกับพระอธิการแก้วว่า “หากคำพยากรณ์เป็นจริง จะทรงสถาปนาวัดถวายให้เป็นวัดใหม่”
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ และโปรดให้พระราชทานสมณะศักดิ์ พระอธิการแก้วเป็น “พระมหาพฤฒาจารย์” และโปรดให้สร้างพระอารามใหม่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองในการสถาปนา เมื่อทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงโปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นในพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า “วัดมหาพฤฒาราม“
พระพุทธไสยาสน์ วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร วัดพระนอน
สำหรับพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปองค์นอนสีทอง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ มีมาแต่ครั้งยังเป็นวัดท่าเกวียน เดิมไม่ได้มีขนาดใหญ่ดังปัจจุบัน แต่รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์ให้ใหญ่ขึ้น มีขนาดความยาวจากพระบาทถึงพระเกตุมาลา 19.25 เมตร พระอุระกว้าง 3.25 เมตร และพระนาภีกว้าง 2 เมตร จากนั้นจึงทรงโปรดฯ ให้สร้างพระวิหารไว้เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปางไสยาสน์ และพระนอนองค์นี้เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้าน และยังดึงดูดผู้มีจิตศรัทธาให้มากราบสักการะบูชาที่วัด โดยเฉพาะ ผู้ที่เกิดวันอังคาร เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปบูชาสำหรับผู้ที่เกิดวันอังคาร
นอกจากนี้ ภายในวัดยังมี พระอุโบสถ ภายในประดิษฐาน พระพรุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.75 เมตร สูง 2.37 เมตร ไม่ปรากฏนามที่เรียกขาน
ใกล้ๆ พระอุโบสถมี “พระปรางค์ 4 องค์” สีขาวนวลโดดเด่นเป็นสง่า สูง 17 เมตร 16 เมตร 15 เมตร และ 14 เมตร เรียงกันตามลำดับ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ที่ปรินิพพานไปแล้ว
วิหารเหนือ โลงเก็บสรีระของหลวงปู่นพ ภูวธิ อดีตพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณและเมตตาคุณ หลังจากท่านมรณภาพด้วยโรคชรา ทางวัดได้เก็บสรีระท่านไว้เป็นเวลา 29 ปี เมื่อทางวัดได้นำออกมาเพื่อบำเพ็ญกุศล ปรากฏว่าสรีระของท่านกลายสภาพเหมือนไม้แห้ง จึงนำบรรจุในโลงแก้วไว้เพื่อให้กราบสักการะจนถึงปัจุบัน
อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นคือ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ต้นไม้แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่ยืนต้นสยายร่มใบในบริเวณวัด และมีพระพุทธรูปปางตรัสรู้ประดิษฐานที่ใต้ต้นโพธิ์ ต้นโพธิ์นี้ทางวัดได้นำหน่อมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 คนไทยมักนิยมเรียกต้นโพธิ์ต้นนี้ว่า ต้นโพธิ์ลังกา
ศิลปะและสถาปัตยกรรม วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร
เนื่องจากวัดมหาพฤฒารามวรวิหารมีความเกี่ยวพันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุของวัดมหาพฤฒาราม จึงเป็นงานศิลปะพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 อาทิ พระอุโบสถ และ วิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งสร้างตามแบบไทยประเพณี
ศิลปะจิตรกรรมฝาผนังของที่วัดมหาพฤฒาราม แตกต่างจากวัดอื่นตรงที่เขียนเรื่อง “ธุดงควัตร 13″ คือวัตรปฏิบัติของพระธุดงค์ และการไปสืบพระพุทธศาสนาที่ลังกา แทนการเขียนเรื่องทศชาติชาดกหรือพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า โดยการเขียนภาพได้รับอิทธิพลแบบตะวันตก ซึ่งได้นำเทคนิคเขียนภาพแนว 3 มิติเข้ามาใช้ คือ มีความเหมือนจริงตามธรรมชาติ