พระนอน พระปางไสยาสน์ เชื่อว่าการกราบไหว้พระนอนแล้วเป็นสิริมงคล เพราะว่ากันว่า การนอนคือการพักผ่อน ที่ไม่ใช่การนอนเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย คติความเชื่อของการกราบไหว้พระนอน คือ ชีวิตที่สุขสบาย พระนอนที่เราพบเห็นกราบไหว้ตามวัดส่วนมาก มักไม่ใช่ปางปรินิพพาน แต่เป็นปางโปรดอสุรินทราหู
ในสมัยพุทธกาล ครั้งพระพุทธองค์ทรงประทับที่เชตวันมหาวิหารในกรุงสาวัตถี อสุรินทราหู ซึ่งเป็นอุปราชของท้าวเวปจิตติอสูรบดินทร์ ผู้ครอบครองเมืองอสูร มีความประสงค์จะเข้าฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า เมื่อได้ไปเข้าเฝ้า อสุรินทราหูก็สำคัญตัวว่ามีร่างกายใหญ่กว่าพระพุทธองค์ จึงไม่แสดงความนอบน้อม
เพื่อทรงต้องการลดทิฐิมานะของอสุรินทราหู พระพุทธองค์ได้ทรงเนรมิตพระวรกายในลักษณะสีหไสยาสน์ อยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียร และมีพระเขนย (หมอน) รองรับ พระวรกายของพระพุทธองค์สูงใหญ่กว่าอสุรินทราหู
เมื่อได้เห็นเช่นนั้น อสุรินทราหูก็รู้สึกอัศจรรย์ใจ จึงถวายอภิวาท และเงยหน้าชมพุทธลักษณะด้วยความยินดี และนับตั้งแต่นั้นมา อสุรินทราหูก็ได้ลดทิฐิมานะลง พอเมื่อได้สดับฟังธรรม ก็เกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
ประวัติความเป็นมา ปางปรินิพพาน พระนอน พระปางไสยาสน์
“วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” หมายถึง “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
โอวาทสุดท้ายของพระพุทธองค์ ที่แสดงในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา คือ “อัปปมาทธรรม” หรือความไม่ประมาท เป็นการกล่าวสอนให้สาวกทั้งหลายครองตนอยู่ในความไม่ประมาทในการดำรงชีวิต และหาทางปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์โดยรอบคอบ โดยปางปรินิพพาน วิเคราะห์ถึงปัจฉิมโอวาท ที่ว่าด้วยการดำรงชีวิตไม่ประมาท แบ่งออกเป็น 2 ข้อหลักๆ ได้แก่
1. ไม่ประมาทในการดำรงชีวิต หมายถึง พระพุทธศาสนาสอนให้สำรวม กาย วาจา ใจ ยึดมั่น คงตนอยู่ในศีล ดำรงตนอย่างมีสติในการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน คือ การระมัดระวังไม่ประมาทในส่วนตน
2. ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น หมายถึง มีความระมัดระวังในการใช้ชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในครอบครัว ชุมชน สังคม ไม่ประมาทเมื่ออยู่ร่วมกับคนหมู่มาก รู้จักสำรวมในการวางตนตามบทบาทหน้าที่ คือ การระมัดระวังในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น
พระประจำวันอังคาร พระปางไสยาสน์ สิริมงคลผู้เกิดวันอังคาร
ตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับสีหไสยาสน์ เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันอังคาร จึงถือเอาพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระประจำวันอังคาร และดาวอังคารถือเป็นดาวพิฆาตหรือดาวมรณะ อีกทั้งยังเป็นดาวเกี่ยวกับสงคราม และอุบัติเหตุ พระปางนี้จึงเสมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงการดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท และมีสติ ระมัดระวังไม่ไปก่อเหตุกับใคร อยู่อย่างสงบสุข
คนโบราณยังเชื่ออีกว่า คนเกิดวันอังคาร เป็นคนใจร้อน ให้นอนเสียบ้าง จะได้ใจเย็นดั่งพระนอน ในส่วนที่กล่าวถึงการโปรดอสุรินทราหูนั้น น่าจะหมายถึงการขจัดความมัวเมาลุ่มหลง เห็นผิดเป็นชอบ อันเป็นลักษณะของพระราหู ดังนั้น ผู้ที่เกิดวันอังคาร หากได้ไปกราบไหว้ขอพร จะถือเป็นสิริมงคล เชื่อกันว่าจะโชคดี พ้นภัย เป็นการสะเดาะเคราะห์ ช่วยให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอังคาร พระพุทธไสยาสน์
ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิก เขปิ ปาณิโน
ปะติฏฐะมะธิ คัจฉันติ ภูมิยัง วิยะ สัพพะทา
สัมพูปัททะวะ ชาลัมหา ยักขะโจราทิ สัมภะวา
คะณะนานะ จะ มุตตานัง ปะริตตันตัม ภะณามะเหฯ
(สวดวันละ 8 จบ จะเกิดผลดี)
พระคาถาบูชาดวงประจำวันอังคาร
ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง (ใช้ในทางเมตตามหานิยม สวดวันละ 8 จบ)