วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวันที่มีเหตุการณ์อัศจรรย์พร้อมกันทั้ง 4 ประการ “มาฆะ” คือชื่อของเดือน 3 มาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า “มาฆบุรณมี” หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แก่พระภิกษุสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ที่มาเฝ้าพระพุทธองค์ ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกัน และพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมแก่พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักธรรมที่นำไปใช้ได้ทุกสังคม
ความเป็นมา วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือน เมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธประเทศอินเดียในปัจจุบัน ตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน 3 ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้ามาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเหตุอัศจรรย์ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
“จาตุร“ แปลว่า 4, “องค์“ แปลว่า ส่วน, “สันนิบาต“ แปลว่า ประชุม
จึงมีอีกคำที่ใช้เรียกวันนี้ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ
- เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
- พระภิกษุสงฆ์ล้วนเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
- พระภิกษุสงฆ์ที่มาประชุม ล้วนแต่เป็นผู้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุกรูป
- ตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ
หลักธรรมที่สำคัญในวันมาฆบูชา
โอวาทปาติโมกข์ หมายถึง หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือคำสอน เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 6 ดังนี้
หลักการ 3
- การไม่ทำบาปทั้งปวง การงดเว้น การลด ละเลิก ทำบาปทั้งปวง
- การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำความดีทุกอย่าง
- การทำจิตให้ผ่องใส ปราศจากเรื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ
อุดมการณ์ 4
- ความอดทน ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ
- ความไม่เบียดเบียน การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
- ความสงบ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
- นิพพาน การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นได้จาการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8
วิธีการ 6
- ไม่ว่าร้าย ไม่กล่าวให้ร้าย หรือกล่าวโจมตีใคร
- ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
- สำรวมในปาติโมกข์ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
- รู้จักประมาณ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่างๆ
- อยู่ในสถานที่ที่สงัด สงบ มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
- ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ชำระจิตให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพที่ดี
กิจกรรม การถือปฏิบัติในวันมาฆบูชา
ในวันมาฆบูชา การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาคือ การทำบุญ ตักบาตรในช่วงเช้า หรือจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัด ช่วงบ่ายฟังพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา ช่วงเย็นจะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ เดินเวียนขวา ระหว่างเดินก็ระลึกถึงพระพุทธคุณพระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ 3 รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัดเตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี
คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ วันมาฆบูชา
(หันทะ มะยัง โอวาทะปาฏิโมกขะคาถาโย ภะณามะ เส)
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง (การไม่ทำบาปทั้งปวง)
กุสะลัสสูปะสัมปะทา (การทำกุศลให้ถึงพร้อม)
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง (การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ)
เอตัง พุทธานะ สาสะนัง (ธรรม 3 อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา (ขันตี คือความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง)
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา (ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง)
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี (ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย)
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต (ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย)
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต (การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย)
ปาติโมกเข จะ สังวะโร (การสำรวมในปาฏิโมกข์)
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง (ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค)
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง (การนอนการนั่งในที่อันสงัด)
อะธิจิตเต จะ อาโยโค (ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง)
เอตัง พุทธานะสาสะนัง (ธรรม 6 อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)