ความหมายบทสวดพาหุง บทที่ 3 บทสวดพาหุงฯ ที่หลายคนท่องได้แล้ว และบางคนกำลังหัดท่อง ชื่อเต็มว่า “ชัยมงคลคาถา” เป็นบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ที่นำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงผจญและชนะมาร รวมไว้ในคาถานี้ เป็นชัยชนะที่ไม่ได้ใช้พละกำลังหรือปาฏิหาริย์ แต่อยู่เหนือมารผจญทั้งหลาย โดยใช้ธรรมะและความอดทนอดกลั้น เป็นบทสวดมนต์ที่มีค่ามากที่สุด มีผลดีที่สุด เพราะเป็นชัยชนะอย่างสูงสุดของพระบรมศาสดา จากความไม่ดีของมารทั้ง 8 ประการ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสวดบทนี้ทุกครั้งเพื่อใช้ในการทำราชสงคราม เพื่อให้มีชัยเหนืออริราชศัตรู อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเอาชัยชนะได้ ซึ่งบทนี้จะกล่าวถึงบทที่ 3 ชัยชนะเหนือสัตว์ร้าย หรือคู่ต่อสู้
พาหุงมหากา ความหมายบทสวดพาหุง บทที่ 3
บทที่ 3 ชัยชนะเหนือสัตว์ร้าย หรือคู่ต่อสู้ (เมตตาบารมี)
กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่อช้างนาฬาคีรี เนื่องด้วยพระเทวทัตทรยศต่อพระพุทธเจ้า จึงได้ปล่อยช้างที่กำลังตกมันชื่อนาฬาคีรี เพื่อมาทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ก็ทรงเอาชนะช้างนั้นได้ ด้วยเมตตาบารมี
พระเทวทัตได้จัดการให้คนปล่อยช้างสารที่กำลังตกมันชื่อนาฬาคีรี เป็นช้างที่โดนทำร้ายและมึนเมาด้วยการวางแผนของพระเทวทัต ปล่อยให้วิ่งไปเส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จบิณฑบาตเพื่อทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่เมื่อช้างมาถึง ด้วยฤทธานุภาพแห่งความเมตตาและพุทธจริยาที่นุ่มนวลของพระพุทธองค์ จิตที่ขุ่นแค้นของช้างนาฬาคีรีก็สงบลง หยุดนิ่ง หายมึนเมา ลดงวง และน้อมศีรษะเข้าหาพระพุทธเจ้าอย่างช้าๆ เมื่อทรงเห็นเช่นนั้น พระพุทธองค์จึงทรงยกพระหัตถ์ลูบช้างด้วยความเมตตา และตรัสว่า
“ ดูก่อนนาฬาคีรี เจ้าจงจำไว้ จงอย่าเข้าหาเราด้วยจิตมุ่งทำลาย เพราะจิตชั่วเป็นเหตุแห่งทุกข์ ผู้ใดทำร้ายตถาคต เมื่อจากไปสู่ชาติหน้า จะไม่มีสุคติเลย เจ้าอย่าดุร้ายมัวเมา อย่าประมาท เพราะผู้ประมาทแล้วย่อมจะไปสู่สุคติไม่ได้ เจ้าจงกระทำหนทางเพื่อไปสู่สุคติเถิด ”
ด้วยเมตตานุภาพของพระพุทธองค์ ช้างนาฬาคีรีได้ฟังเช่นนั้น ก็มีจิตชื่นชมดีใจยิ่งนัก ส่งเสียงร้องขึ้นรับคำ แล้วเอางวงลูบละอองธุลีพระบาทของพระองค์ นำมาพ่นกระหม่อมตนเอง แล้วก้าวเท้าถอยหลังกลับสู่โรงช้างที่อยู่อาศัยของตน