วันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ (เผาศพพระพุทธเจ้า) ตรงกับ วันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ปัจจุบัน หลายคนมักลืมวันนี้ไปแล้ว หรือบางคนแทบไม่รู้จักวันนี้เลย การประกอบพิธีประเพณีในวันอัฏฐมีบูชา จะมีเพียงแค่บางวัดเท่านั้นที่ยังระลึกพร้อมประกอบพิธีในวันนี้ ตามแต่ความศรัทธา เช่น ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง, จังหวัดกรุงเทพฯ ที่วัดราชาธิวาส, จังหวัดนครปฐม ที่วัดใหม่สุคนธาราม และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นต้น
ประวัติ วันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ 7 วัน มัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์ มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้ทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ถือเป็นวันที่ชาวพุทธต้องมีความสังเวช สลดใจ โศกเศร้ามาก และเป็นวันควรแสดงธรรมสังเวช ระลึกถึงพระพุทธคุณเพื่อเป็นพุทธานุสสติว่าสังขารนั้นไม่เที่ยง เพราะเป็นการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ แห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างมาก หลังจากที่พระเพลิงเผาไหม้พระพุทธสรีระได้มอดลง บรรดามัลลกษัตริย์ทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่หีบทองแล้วนำไปเก็บรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ได้อัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ เช่น ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตรอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น
หลักธรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องในวันอัฏฐมีบูชา
สุจริต 3 หมายถึง ความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งส่งผลให้ผู้กระทำประสบแต่ความสงบสุข สุจริตแสดงออกได้ 3 ทาง ได้แก่
- ทางกาย (กายสุจริต) หมายถึง ความประพฤติดีที่แสดงออกทางกาย ได้แก่ การเว้นจากการฆ่าสัตว์
- ทางวาจา (วจีสุจริต) หมายถึง ความประพฤติที่เกิดทางวาจา ได้แก่ การเว้นจากการพูดโกหก และการพูดส่อเสียด
- ทางใจ (มโนสุจริต) หมายถึง ความประพฤติดีทีเกิดทางใจ ได้แก่ การไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น
การประกอบพิธีประเพณีวันอัฏฐมีบูชา ตามศรัทธาแต่ละท้องถิ่น
พุทธศาสนิกชนบางส่วนจะมีการเวียนเทียน และปฏิบัติเหมือนกับพิธีวันวิสาขบูชา ต่างแค่คำบูชาเท่านั้น
คำบูชาถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันอัฏฐมีบูชา
ยะมัมหะ โข มะยัง, ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ, อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุคะโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวา สวากขาโต โข ปะนะ, เตนะ ภะคะวา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ. สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ, ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย อัญชลีกะระณีโย. อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ. อะยัง โข ปะนะ ถูโป(ปฏิมา) ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ กโต (อุททิสสิ กตา) ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ, ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตวา, ปะสาทะสังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ, อิมัง วิสาขะปุณณะมิโตปะรัง อัฏฐะมีกาลัง, ตัสสะ ภะคะวะโต สรีรัชฌาปะนะกาละสัมมะตัง ปัตวา, อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปะ, ปุปผาทิสักกาเร คะเหตวา, อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ถูปัง(ปะฏิมาฆะรัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา.
สาธุ โน ภันเต ภะคะวา, สุจิระปะรินิพพุโตปิ, ญาตัพเพหิ คุเณหิ, อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน, อิเม อัมเหหิ คะหิเต, สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ฑีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.