วันอาสาฬหบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก อาสาฬหปูรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ
ประวัติ วันอาสาฬหบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งหลังจากปฐมเทศนาหรือเทศนากัณฑ์แล้วเสร็จ เป็นเหตุให้ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธี ที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา และทำให้มีพระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่อมา พระวัปปะ, พระภัททิยะ, พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ
หลักธรรมสำคัญของการปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชา
เนื่องด้วย วันอาสาฬหบูชา มีความเกี่ยวข้องกับพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงขึ้นครั้งแรกในวันอาสาฬหบูชา ใจความสำคัญของปฐมเทศนา มีหลักธรรมสำคัญอยู่ 2 ประการ ที่พุทธศาสนิกชนควรนำไปพิจารณาและทำความเข้าใจ ได้แก่
หลักธรรมที่ 1 มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง
คือการปฏิบัติที่เป็นกลางและถูกต้องเหมาะสม ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป โดยพระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่สุด 2 ด้าน ได้แก่
– การประกอบตนให้ลำบากด้วยการทรมานกาย คือ บำเพ็ญตบะการทรมานตน หรือดำเนินชีวิตแบบก่อความทุกข์ให้ตนเอง เหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด
– การไม่ประกอบตนให้เพลิดเพลินในกามสุข มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง
เพื่อละเว้นการดำเนินชีวิตที่เอนเอียง จึงต้องใช้หลักทางสายกลางในการดำเนินชีวิต ซึ่งมีหลักปฏิบัติ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
- สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ
- สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
- สัมมาวาจา เจรจาชอบ
- สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
- สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
- สัมมาวายามะ เพียรชอบ
- สัมมาสติ ระลึกชอบ
- สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
หลักธรรมที่ 2 อริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐ ซึ่งเป็นบุคคลที่ห่างไกลกิเลส ได้แก่
- ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
- สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
- นิโรธ การดับทุกข์
- มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
การถือปฏิบัติกิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา ที่ชาวพุทธนิยม
พิธีวันอาสาฬหบูชา เริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 และได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือเป็นหลักปฏิบัติโดยทั่วกัน อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้กับวันหยุดของรัฐในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่นๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา
กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชาแบ่งเป็นกิจกรรมของพระภิกษุสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน โดยพระภิกษุสงฆ์เตรียมจัดกิจกรรมที่วัด รวมถึงแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตามที่พระพุทธเจ้าเคยแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5
ส่วนกิจกรรมของชาวพุทธ มีทั้ง ทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าและตลอดวันก็จะมีการบำเพ็ญกุศล เช่น ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา ฟังพระธรรมเทศนา รวมถึงการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในช่วงเย็น
ก่อนเริ่มทำการเวียนเทียน พุทธศาสนิกชนจะร่วมกันกล่าวบทสวดมนต์และคำบูชาในวันอาสาฬหบูชา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดก่อนเริ่มการเวียนเทียน มีดังนี้
- บทบูชาพระรัตนตรัย
- บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า
- บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
- บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
- บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
- บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
- บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
- บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
- บทสวดพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
- บทสวดบูชาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา
เมื่อสวดจบแล้วจะมีการจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชา จากนั้นจึงเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยในขณะที่เดินพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณด้วยการสวดบท อิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณด้วยการสวด สวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณด้วยการสวด สุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนครบ 3 รอบ เมื่อเดินเวียนครบแล้วให้นำธูปเทียน ดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี