หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ หรือ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) วัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เดิมชื่อ สังเวียน สังข์สุวรรณ เป็นบุตรของนายควง และนางสมบุญ สังข์สุวรรณ ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือด้านการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน
ท่านมรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2535 เวลา 16.10 น. สิริชนมายุได้ 76 ปี หลังมรภาพสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย และได้มีการเก็บรักษาศพของท่านบรรจุไว้ในโลงแก้วบนบุษบกทองคำที่ประดับด้วยอัญมณี ณ วัดจันทาราม จนถึงปัจจุบันนี้
ประวัติพอสังเขป หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ (วีระ ถาวโร)
ท่านเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนจบชั้นประถม 4 พออายุ 15 ปี ท่านอยู่กับยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อำเภอตลิ่งชัน และได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ และพออายุ 19 ปี ได้เข้าเป็นเภสัชกรทหารเรือ สังกัดกรมแพทย์ทหารเรือ
เมื่ออายุได้ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ที่วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนันโท) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เล็ก เกสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ท่านสอบได้นักธรรมตรี โท เอก ภายใน 3 ปี ต่อมาได้ศึกษาพระกรรมฐานจากครูอาจารย์หลายท่าน อาทิ หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก, พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค, พระครูรัตนภิรมย์ วัดบ้านแพน, พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า, หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ, หลวงพ่อเนียม วัดน้อย, หลวงพ่อโหน่ง อินทสุวัณโณ วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) และหลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ
เมื่อปี พ.ศ. 2481 ท่านจำพรรษาที่วัดช่างเหล็ก อำเภอตลิ่งชัน เพื่อเรียนภาษาบาลี สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ได้ย้ายมาอยู่วัดอนงคาราม หลังจากนั้นได้เป็นรองเจ้าคณะ 4 วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค และย้ายไปอีกหลายวัด
กระทั่งปี พ.ศ.2511 ท่านมาอยู่วัดท่าซุง บูรณะซ่อมแซม สร้างและขยายวัดท่าซุง จากเดิมพื้นที่ 6 ไร่เศษ จนกระทั่งมีบริเวณพื้นที่ประมาณ 289 ไร่ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระสุธรรมยานเถร” เมื่อปี พ.ศ. 2527 และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ “พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี” เมื่อปี พ.ศ. 2532
ผลงานเกียรติคุณหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง
ตลอดระยะเวลาที่อุปสมบท หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้ทำหน้าที่ของสงฆ์ในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ ท่านสร้างโรงพยาบาล, สร้างโรงเรียน, จัดตั้งธนาคารข้าว, ออกเยี่ยมทหารของชาติและตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยต่างๆ เพื่อปลุกปลอบขวัญกำลังใจ และแจกอาหาร, ยา, อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และวัตถุมงคลทั่วประเทศ
ท่านได้สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) โดยจัดตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศูนย์ที่ได้ดำเนินการสงเคราะห์ราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 จนกระทั่งมรณภาพ
นอกจากนี้ ท่านยังสอนพุทธบริษัท ศิษยานุศิษย์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศให้มุ่งพระนิพพานเป็นหลัก โดยให้ประพฤติปฏิบัติ กาย วาจา ใจ ในทางในศีลและในกรรมฐาน 10 ทิศ และมหาสติปัฏฐานสูตร พิมพ์หนังสือคำสอนกว่า 15 เรื่อง เทปคำสอนกว่า 1,000 เรื่อง ธรรมเทศนาทุกช่องทาง และท่านช่วยสร้างพระพุทธรูปและถาวรวัตถุมากกว่า 30 วัด รวมทั้งการบูรณะฟื้นฟูวัดท่าซุงด้วยเงินกว่า 600 ล้านบาท ได้สร้างพระไตรปิฎก และถวายผ้าไตรแก่วัดต่างๆ ปีละไม่ต่ำกว่า 200 ไตร